การเรียนรู้กฎหมาย

บล๊อกเกอร์จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติในการทดลองสร้างบล๊อกเกอร์ในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวันโดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายในสังคมไทย

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การจัดระเบียบทางสังคม

ความหมายของการจัดระเบียบสังคม
          การจัดระเบียบสังคม เป็นกระบวนการที่สมาชิกได้พัฒนาการกระทำระหว่างกันทางสังคมอย่างมีระเบียบ  โดยมีสมาชิกส่วนรวมของสังคมไทยยอมรับเป็นแนวความประพฤติร่วมกันและสืบทอดจนเป็นบรรทัดฐานในการดำรงชีวิตร่วมกันของสมาชิกในสังคม
          สาเหตุที่ต้องมีการจัดระเบียบสังคม
          1. สมาชิกในสังคมมีความแตกต่างกัน
          2. แต่ละคนมุ่งแต่ผลประโยชน์ของตน  จนเกิดความขัดแย้งได้
          ความจำเป็นที่ต้องมีการจัดระเบียบสังคม
          1. เนื่องจากสมาชิกในสังคมมีความแตกต่าง  ทั้งในทางกายภาพและในทางสังคม
          2. เนื่องจากสมาชิกในสังคมมีวัตถุประสงค์และมีความต้องการร่วมกันในสังคมมนุษย์ทุกๆ สังคมสมาชิกแต่ละคนย่อมมีความต้องการพื้นฐานร่วมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกเพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์และความต้องการนั้น
          3. เพื่อป้องการขัดแย้งระหว่างสมาชิกในสังคม ธรรมชาติของมนุษย์  คือ  การต่อสู้ การใช้อำนาจ  ดังนั้นจึงต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อให้ความสัมพันธ์ของสมาชิกในสังคมราบรื่น

วิธีการจัดระเบียบทางสังคม
1. บรรทัดฐาน
2. สถานภาพ – บทบาท  และการจัดชั้นยศ
3. ค่านิยม
4. การขัดเกลาทางสังคม
5. การควบคุมทางสังคม

องค์ประกอบของการจัดระเบียบ

บรรทัดฐานทางสังคม  หมายถึง  ระเบียบ กฎเกณฑ์  หรือแบบแผนของพฤติกรรมที่สังคมยอมรับเป็นแนวทางให้สมาชิกประพฤติปฏิบัติในแต่ละสถานการณ์  สรุปได้ว่า...
1. บรรทัดฐานทางสังคม  เป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือแบบแผนของพฤติกรรมที่สมาชิกในสังคมยอมรับร่วมกัน และได้ประพฤติสืบต่อกันมา
2. บรรทัดฐานทางสังคมเป็นระเบียบ  กล่าวคือ  แบบแผนความประพฤติที่เห็นว่าถูกต้องในสถานการณ์หนึ่งอาจนำไปใช้ในอีกสถานการณ์หนึ่งไม่ได้
ประเภทของบรรทัดฐานทางสังคม
1. วิถีประชา/วิถีชาวบ้าน (Folkways)  หมายถึง  แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติด้วยความเคยชิน เนื่องจากได้รับการปลูกฝังถ่ายทอดมาตั้งแต่วัยเด็กจนเติบใหญ่  แม้ว่าจะไม่มีการกำหนดโทษผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนอย่างเข้มงวด  แต่อาจถูกคนอื่นเยาะเย้ย ถากถาง หรือได้รับการนินทา ทำให้สมาชิกต้องปฏิบัติตามวิถีชาวบ้าน  จนเกิดความเป็นระเบียบทางสังคมในที่สุด
2. จารีต  (Mores) หมายถึง  แบบแผนความประพฤติที่สมาชิกปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ  โดยผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิกในสังคมอย่างจริงจัง เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบสัมพันธ์ของสมาชิกเป็นส่วนรวม
3. กฎหมาย (Laws)  หมายถึง  กฎเกณฑ์ของความประพฤติซึ่งสร้างขึ้นโดยองค์การทางการเมืองการปกครอง และโดยได้รับการรับรองจากองค์กรของรัฐ
          กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มีลักษณะสำคัญ  ดังนี้
           1) เป็นกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติของสมาชิกในสังคมที่บัญญัติเป็นทางการโดยองค์การของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมาย
           2) มีการประกาศรายละเอียดของกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
           3) มีองค์การที่หน้าที่ควบคุมให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎหมาย
           4) มีบทลงโทษผู้ที่ละเมิดฝ่าฝืนกฎหมาย      
ข้อสังเกตเกี่ยวกับบรรทัดฐาน
1. บรรทัดฐานแต่ละท้องถิ่นสอดคล้องหรือแตกต่างก็ได้
2. บรรทัดฐานแต่ละท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้
3. สังคมชนบทมักใช้จารีตมากกว่า  ส่วนสังคมเมืองมักใช้กฎหมายเป็นบรรทัดฐาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น