มนุษย์เป็นสัตว์สังคม โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่คนเดียวได้ จึงต้องรวมกันอยู่เป็นหมู่เป็นพวก เป็นกลุ่มเป็นก้อน เริ่มจากสังคมเล็ก ๆ ระดับครอบครัว ต่อมาเมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้นก็รวมกันเป็นเผ่าเป็นกลุ่มชนและสุดท้ายเผ่าที่มีสายพันธุ์เดียวกันก็รวมเข้าด้วยกันกลายเป็นกลุ่มชนใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นรัฐ เป็นประเทศ การที่มนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่ต้องมีการติดต่อกัน เพื่อแลกเปลี่ยนปัจจัยในการดำรงชีวิต บางครั้งมนุษย์ก็มีความต้องการที่จะทำอะไร ๆ ตามใจตนเองบ้าง ซึ่งการกระทำนั้นอาจเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ จนเกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นมาได้ มนุษย์จึงต้องสร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพื่อให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยสงบสุข กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เรียกว่า บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ประกอบด้วย
1. วิถีชาวบ้าน (Folkways) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่อยู่ในรูปของประเพณีนิยม ที่สมาชิกในสังคมปฏิบัติสืบต่อกันมา ถ้าใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกติฉินนินทาว่าร้าย เช่น การแต่งกาย กิริยามารยาททางสังคมในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
2. จารีต (Mores) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่ยึดหลักความดีความชั่ว กฎเกณฑ์ทางศาสนา เป็นเรื่องของความรู้สึกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก หากใครละเมิดฝ่าฝืนจะได้รับการต่อต้านจากสมาชิกในสังคมอย่างจริงจัง อาจถูกกีดกันออกจากสังคม หรือไม่มีใครคบค้าสมาคมด้วย เช่น การลักเล็กขโมยน้อย การเนรคุณบิดามารดา หรือผู้มีพระคุณ เป็นต้น
3. กฎหมาย (Laws) เป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน แน่นอน ว่ากระทำอย่างไร เป็นความผิดฐานใด จะได้รับอย่างไร เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต เป็นต้น
กฎเกณฑ์ของความประพฤติทั้งสามประการดังกล่าว สองประการแรกไม่ได้มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน การลงโทษผู้ละเมิดฝ่าฝืนก็ไม่รุนแรง ประการที่สาม กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ใช้ได้ผลมากที่สุด ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ ดังนั้นสังคมมนุษย์ทุกสังคมจึงจำเป็นต้องมีกฎหมาย เป็นกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันดังคำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย”
ความหมายของกฎหมาย
กฎหมาย หมายถึง คำสิ่งหรือข้อบังคับของรัฐ ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อใช้ควบคุมความประพฤติของบุคคลซึ่งอยู่ในรัฐหรือในประเทศของตน หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะมีความผิดและถูกลงโทษ หรือได้รับผลเสียหายนั้นด้วย
ลักษณะของกฎหมาย
การปกครองประเทศให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยสงบสุขนั้น รัฐจำเป็นจะต้องออกคำสั่ง ข้อบังคับต่าง ๆ มากมาย คำสั่ง ข้อบังคับเหล่านั้นมิได้เป็นกฎหมายทุกฉบับ คำสั่ง ข้อบังคับของรัฐที่จะถือว่าเป็นกฎหมายได้นั้น ต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1. มาจากรัฏฐาธิปัตย์ หมายความว่า ผู้ที่จะออกกฎหมายได้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ซึ่งจะเป็นใครนั้นต้องแล้วแต่สถานการณ์หรือรูปแบบการปกครองประเทศไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครอง และการออกกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ปัจจุบันเราใช้การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจอธิปไตยซึ่งเห็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของปวงชนชาวไทย และบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจในการออกกฎหมายโดยความเห็นชอบของรัฐสภา ในสถานการณ์ที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศ หัวหน้าคณะปฏิวัติก็มีอำนาจออกกฎหมายได้เพราะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ยังมีประกาศคณะปฏิวัติหลายฉบับที่ยังบังคับใช้เป็นกฎหมายอยู่
2. เป็นคำสั่ง ข้อห้าม ข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตาม หมายความว่า กฎหมายไม่ใช่คำขอร้อง หรือแถลงการณ์ เมื่อประกาศใช้แล้วประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตาม ถึงแม้ว่าจะขัดต่อผลประโยชน์หรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องยอมรับจะปฏิเสธไม่ได้ เช่น กฎหมายบังคับให้เสียภาษี บังคับให้ต้องรับราชการทหาร เป็นต้น
3. ใช้ได้ทั่วไป หมายความว่า กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้ว จะมีผลใช้บังคับได้กับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง คนรวย คนจน ข้าราชการ แม้แต่พระมหากษัตริย์หรือเชื้อพระราชวงศ์ก็ตาม และใช้ได้ทั่วไปทุกพื้นที่ในอาณาเขตประเทศไทย
4. ใช้ได้เสมอไป หมายความว่า กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้ว จะมีผลใช้บังคับได้ตลอดไป ไม่ว่าจะเก่าแก่ ล้าสมัย หรือนานเท่าใดก็ตาม จนกว่าจะมีการยกเลิก
5. มีสภาพบังคับ หมายความว่า กฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้ว ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ หรือตกอยู่ในสภาพบังคับอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อาจจะหนักบ้าง เบาบ้างแล้วแต่ความผิดในกฎหมายอาญา สภาพบังคับเรียกว่าโทษ มีอยู่ 5 ประการ คือประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์ ในกฎหมายแพ่ง สภาพบังคับขึ้นอยู่กับการกระทำความผิด เช่น บังคับให้ชำระหนี้ ชดใช้ค่าเสียหาย หรือเสียดอกเบี้ย เป็นต้น นอกจากนี้ในกฎหมายอื่น ๆ ก็อาจมีสภาพบังคับอื่น ๆ อีกก็ได้ เช่น ข้าราชการที่ทำผิดวินัย อาจถูกตัดเงินเดือน สั่งพักราชการ ให้ออกปลดออกหรือไล่ออก เป็นต้น
ที่มา: http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/Law1/Law-General.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น