การเรียนรู้กฎหมาย

บล๊อกเกอร์จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติในการทดลองสร้างบล๊อกเกอร์ในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวันโดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายในสังคมไทย

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

วิวัฒนาการกฎหมายในประเทศไทย

 วิวัฒนาการกฎหมายในประเทศไทย
     เดิมกฎหมายของประเทศไทยนั้นมีที่มาจากจารีตประเพณี ศาสนา รวมไปถึงพระราชโองการของพระมหากษัตริย์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชศาสตร์” ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยหลักใน “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” จนกระทั่งการเสียเมืองครั้งที่ 2 ให้แก่ประเทศพม่า เอกสารสำคัญทางกฎหมายได้มีการถูกทำลายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาในสมัยของรัชการที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการรวบรวมกฎหมายขึ้นใหม่แต่ก็เหลือเพียงหนึ่งในสิบของกฎหมายที่มีอยู่เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถตัดสินคดีได้อย่างยุติธรรม รัชกาลที่ 1 จึงทรงชำระสะสางกฎหมายเสียใหม่กลายเป็น “กฎหมายตราสามดวง” ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญของไทยเรา นักวิชาการทั้งหลายถือว่าแม้จริงแล้วกฎหมายตราสามดวงนี้ก็คือกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
     คดีสำคัญที่ก่อให้เกิดกฎหมายตราสามดวงก็คือ “คดีอำแดงป้อม” (อำแดง เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงในสมัยก่อน) คดีนี้มีข้อเท็จจริงคือ นายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษพระเกษมและนายราชาอรรถ เนื่องจาก อำแดงป้อม ภรรยาของนายบุญศรีเป็นชู้กับ นายราชาอรรถ แต่อำแดงป้อมกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่พระเกษมกลับพิจารณาเข้าข้างอำแดงป้อมแล้วคัดข้อความส่งให้ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีคำตัดสินให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากการเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย เมื่อรัชการที่ 1 ทรงทราบเรื่องจึงตรัสว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษากันแแล้วให้หย่าตามคำฟ้องนั้นไม่เป็นการยุติธรรม จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เจ้าพระยาคลังตรวจสอบกฎหมายดังกล่าว ปรากฎได้ความว่า ชายไม่ผิด หญิงมาขอหย่า ก็สามารถหย่าได้(ตามที่บันทึกใช้คำว่า ชายหาผิดมิได้หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชายหย่าได้) จึงทรงเห็นว่าแม้แต่พระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไป ก็ยังอาราธนาพระราชาคณะทั้งปวงให้ทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกให้ถูกต้องได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายผิดเพี้ยนไปก็ควรต้องชำระสะสางให้ถูกต้อง พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกกระหม่อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ประกอบด้วยอาลักษณ์ 4 ลูกขุน 3 ราชบัณฑิต 4 จัดการชำระบทกฎหมายให้ถูกต้อง โดยอาศัย “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”(เชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ หรือผู้มีอำนาจเหนือคนธรรมดาแต่งขึ้น เดิมนั้นเป็นของชาวฮินดู เป็นหนังสือในศาสนาพราห์ม) เป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา เกิดเป็นกฎหมายตราสามดวงขึ้น
     ในเวลาต่อมาเกิดการล่าอาณานิคมจากประเทศซีกโลกตะวันตก เช่น ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นก็คือการเสียเอกราชทางศาล เนื่องจากต่างประเทศเห็นว่าประเทศไทยเรากฎหมายป่าเถื่อน ไม่เป็นธรรม เมื่อมีปัญหาหรือคดีเกิดขึ้นก็จะไม่ยอมขึ้นศาลไทย และบีบบังคับให้รัฐบาลของไทยทำสนธิสัญญาซึ่งเรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ได้มีการจัดตั้งศาลกงศุล และศาลต่างประเทศขึ้นเพื่อใช้ในการพิจารณาคดีสำหรับคนชาตินั้นๆโดยเฉพาะ ไม่ใช้กฎหมายของไทยและไม่ขึ้นศาลไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะนำเอาเอกราชทางศาลกลับคืนมา โดยการแก้ไขกฎหมายให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ จึงได้มีส่งข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษากฎหมายที่ต่างประเทศเพื่อนำความรู้มาพัฒนากฎหมาย รวมถึงจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการตรวจแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายขึ้นใหม่ โดยตั้งตณะกรรมการซึ่งมีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) เป็นประธาน โดยร่างประมวลกฎหมายอาญาเสร็จก่อน(ในสมัยนั้นคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127) อีกทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นร่างกฎหมายอื่นๆด้วย ต่อมาในสมัยรัชการที่ 6 ก็ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และปรกาศใช้ในปี พ.ศ.2468 แรกเริ่มเดิมทีมีเพียง 2 บรรพ คือบรรพ 1 ว่าด้วยบทเบ็ดเสร็จทั่วไป และบรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ หลังจากนั้นก็มีการร่างบรรพอื่นๆขึ้นจนครบ 6 บรรพในภายหลัง
     ในการปฏิรูประบบกฎหมายจากระบบเดิมที่ล้าสมัยมาเป็นระบบใหม่นั้น ไทยได้รับเอาระบบซีวิล ลอว์มาใช้ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ฝรั่งเศสและเยอรมันใช้กัน โดยระบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากอาณาจักรโรมัน เริ่มแรกเดิมทีนั้นคณะกรรมการร่างกฎหมายประสงค์ที่จะนำเอาระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์มาใช้บังคับ แต่เนื่องจากระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เพราะระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่พัฒนามาเป็นเวลาช้านานจากจารีตประเพณีและระบบสังคมโดยเฉพาะ ตัวบทกฎหมายก็ไม่มีการรวบรวมเอาไว้เป็นหมวดหมู่ทำให้ยากแก่การศึกษา ซึ่งแตกต่างกับระบบซีวิล ลอว์ ที่มีการรวบรวมกฎหมายไว้เป็นหมวดหมู่อย่างมีระเบียบ ทำให้ง่ายแก่การศึกษาและนำมาใช้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่นอกจากฝรั่งเศสและเยอรมันแล้ว ต่างก็ใช้ระบบกฎหมายนี้ทั้งสิ้ง การที่ประเทศไทยใช้ระบบเดียวกับนานาประเทศก็จะทำให้กฎหมายของไทยมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็จะมีผลทำให้ไทยอาจได้รับเอกราชทางศาลคืนได้ง่ายขึ้น
     ดังนั้นประเทศไทยจึงนำเอาระบบซิวิล ลอว์มาใช้ โดยนำกฎหมายของประเทศอื่นๆมาผสานเข้ากันกับกฎหมายไทยดั้งเดิม และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ จนในที่สุดก็ได้รับเอกราชทางศาลคืนมา และกฎหมายไทยก็ยังมีการพัฒนาขึ้นมาอีกเรื่อยๆเพื่อสามารถใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ จนถึงปัจจุบัน

ที่มา:http://www.oknation.net/blog/knownledgelaw/2007/09/01/entry-2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น