การเรียนรู้กฎหมาย

บล๊อกเกอร์จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติในการทดลองสร้างบล๊อกเกอร์ในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวันโดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายในสังคมไทย

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

กฎหมายนิติกรรมสัญญา


นิติกรรมและสัญญา
   ปัจจุบันความจำเป็นของบุคคลต่าง ๆ ในการก่อนิติสัมพันธ์มีความแพร่หลายมากขึ้น  โดยบุคคลนั้นอาจเกี่ยวพันในฐานะของผู้ให้สัญญาหรือผู้รับสัญญา  ซึ่งแล้วแต่สถานะ  เจตนารมย์  หรือวัตถุประสงค์       ในการทำสัญญานั้น  ซึ่งก่อนที่จะมีการก่อนิติสัมพันธ์นั้น  ควรทราบความหมายประเภท  องค์ประกอบต่าง ๆ  ในการก่อนิติสัมพันธ์  เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้ต่อไป

นิติกรรม 
มีความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  คือ  การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร  มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อก่อ  เปลี่ยนแปลง  โอน  สงวน  หรือระงับซึ่งสิทธิ  (ป.พ.พ.ม. 149)
   กล่าวโดยย่อ  นิติกรรม  คือ  การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งต่อผลในกฎหมาย   ที่จะเกิดขึ้นเพื่อการก่อสิทธิ  เปลี่ยนแปลงสิทธิ  โอนสิทธิ  สงวนสิทธิ  สงวนสิทธิ  และระงับซึ่งสิทธิ  เช่น  สัญญาซื้อขาย  สัญญากู้เงิน  สัญญาจ้างแรงงาน  สัญญาให้และพินัยกรรม  เป็นต้น

ประเภทของนิติกรรม  จำแนกได้  2  ประเภท  คือ
   นิติกรรมฝ่ายเดียว  ได้แก่  นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวและ     มีผลตามกฎหมาย  ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ผู้ทำนิติกรรมเสียสิทธิได้  เช่น  การก่อตั้งมูลนิธิ  คำมั่นโฆษณาจะให้รางวัล  การรับสภาพหนี้  การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้  คำมั่นจะซื้อหรือจะขาย  การทำพินัยกรรม  การบอกกล่าวบังคับจำนอง  เป็นต้น
   นิติกรรมสองฝ่าย  (นิติกรรมหลายฝ่าย)  ได้แก่  นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปและทุกฝ่ายต่างต้องตกลงยินยอมระหว่างกัน  กล่าวคือ  ฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็นคำเสนอ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเป็นคำสนอง  เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันจึงเกิดมีนิติกรรมสองฝ่ายขึ้น หรือเรียกกันว่า  สัญญา  เช่น  สัญญาซื้อขาย  สัญญากู้ยืม  สัญญาแลกเปลี่ยน  สัญญาขายฝาก  จำนอง  จำนำ  เป็นต้น


ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรมสัญญา
   โดยหลักทั่วไป  บุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา  แต่มีข้อยกเว้น  คือ  บุคคลบางประเภทกฎหมายถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา  เช่น  ผู้เยาว์  คนไร้ความสามารถ  คนเสมือนไร้ความสามารถ  และบุคคลล้มละลาย  สำหรับผู้เยาว์จะทำนิติกรรมได้ต้องรับความยินยอมจาก  ผู้แทนโดยชอบธรรม (ป.พ.พ.ม. 21)  เว้นแต่นิติกรรมที่ได้มาซึ่งสิทธิโดยสิ้นเชิงหรือเพื่อให้หลุดพ้นหน้าที่  หรือการที่ต้องทำเองเฉพาะตัวหรือกิจกรรมที่เหมาะสมแก่ฐานานุรูป  และจำเป็นในการเลี้ยงชีพเหล่านี้        ผู้เยาว์ทำด้วยตนเองได้ (ป.พ.พ.ม.22,23,24)  ส่วนคนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาล     ซึ่งแต่งตั้งโดยศาล  สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถทำกิจการเองได้ทุกอย่างเว้นแต่กิจกรรมบางอย่างตาม       ป.พ.พ.ม. 34  จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์  เช่น  สัญญา  ซื้อขายที่ดิน  เป็นต้น  ขณะที่บุคคลล้มละลายจะทำนิติกรรมใดไม่ได้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำสั่งศาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน
   ผู้มีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา  ปกติแล้ว  บุคคลทุกคนต่างมีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา        แต่ยังมีบุคคลบางประเภทที่เป็นผู้หย่อนความสามารถ  กฎหมายจึงต้องเข้าดูแลคุ้มครองบุคคลเหล่านี้  ไม่ให้ได้รับความเสียหายในการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าทำนิติกรรมของผู้นั้น
   ผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา  ประกอบด้วย
   (1)  ผู้เยาว์  คือ  บุคคลที่ยังมีอายุไม่ครบ  20  ปีบริบูรณ์  การทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ ของผู้เยาว์  กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม  คือ  บิดามารดาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีเสียก่อน  การทำนิติกรรมสัญญาใดที่ปราศจากความยินยอมกฎหมายเรียกว่าเป็นโมฆียะ  ซึ่งอาจถูก  บอกล้างภายหลังได้ต่อเมื่ออายุ  20  ปีบริบูรณ์  หรือได้สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  จึงพ้นจากภาวะ     เป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ  จึงมีความสามารถใช้สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาเองได้
   (2)  คนวิกลจริต  คือ  บุคคลที่มีสมองพิการหรือว่าจิตใจไม่ปกติ
(3)  คนไร้ความสามารถ  คือ  คนวิกลจริตที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
(4)  คนเสมือนไร้ความสามารถ  คือ  บุคคลผู้ใดไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้  หรือจัดการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เพราะการพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ  ติดสุรายาเมา  มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น
(5)  ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายล้มละลายเมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว  ลูกหนี้ก็ตกเป็นผู้หย่อนความสามารถ  กล่าวคือ  ลูกหนี้จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน   
หรือกิจการของตนไม่ได้  เว้นแต่จะกระทำได้ตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์  หรือที่ประชุมเจ้าหน้าที่  และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจในการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้  และการกระทำการอื่น ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้  เช่น  การฟ้องร้อง  การต่อสู้คดี  การประนีประนอม  เป็นต้น
(6)  สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน  จึงต้องให้ความยินยอมซึ่งกันและกันในการทำสัญญาผูกพันสินสมรส






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น