การเรียนรู้กฎหมาย

บล๊อกเกอร์จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาและการปฏิบัติในการทดลองสร้างบล๊อกเกอร์ในรายวิชาอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวันโดยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายในสังคมไทย

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเภทของกฎหมาย


ประเภทของกฎหมาย

     การแบ่งแยกประเภทกฎหมายที่นิยมใช้กันมีอยู่  ประเภท คือ

     1.การแบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามลักษณะแห่งการใช้ เป็นการแบ่งแยกโดยพิจารณาถึงลักษณะการใช้กฎหมายเป็นหลัก ได้แก่

     -กฎหมายสารบัญญัติ คือกฎหมายที่บัญญัติถึงเนื้อหาหรือเรื่องทั่วๆไป เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมความประพฤติรวมไปถึงกำหนดสิทธิและหน้าที่ต่างๆของพลเมืองไว้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา

     -กฎหมายวิธีสบัญญัติ คือกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการหรือวิธีการที่จะบังคับหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัตินั่นเอง ได้แก่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฯลฯ ตัวอย่างเช่นในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าผู้ใดฆ่าผู้อื่นผู้นั้นมีความผิด แต่ไม่ได้กำหนดว่ามีจะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างไร ไม่มีขั้นตอนการดำเนินการกำหนดไว้ เราก็ต้องอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เราอาจเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างง่ายๆได้ว่า หากเราเปรียบเทียบว่ากฎหมายสารบัญญัติเปรียบได้กับเครื่องกรองน้ำที่ใช้ในการกรองน้ำให้สะอาด  กฎหมายวิธีสบัญญัติก็จะหมายถึงวิธีการใช้เครื่องกรองน้ำนั้นหรือกระบวนการการทำงานของเครื่องกรองน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของน้ำสะอาดให้เราใช้ดื่มกินนั่นเอง ถ้าเราไม่รู้วิธีใช้หรือไม่มีกระบวนการการกรองน้ำติดตั้งอยู่ในเครื่อง เราก็จะทำการกรองน้ำให้สะอาดไม่ได้  เช่นเดียวกันนี้ถ้าไม่มีกฎหมายวิธีสบัญญัติ การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัติก็จะทำได้ยาก เพราะไม่มีแบบแผนและวิธีการแน่นอน ขาดความเป็นระเบียบและไร้ประสิทธิภาพ 

     2.แบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามลักษณะของความสัมพันธ์ของคู่กรณี ได้แก่

    -กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของแต่ละเอกชน รวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ของเอกชนที่มีต่อเอกชนด้วยกันด้วย กฎหมายเอกชนก็ได้แก่กฎหมายแพ่ง  และกฎหมายพาณิชย์  กฎหมายแพ่งจะกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่รวมไปถึงความสัมพันธ์ของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนกฎหมายพาณิชย์ก็จะกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคลที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อกัน เช่น กำหนดถึงสิทธิแบะหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาซื้อขาย คู่สัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ

     -กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน หรือความสัมพันธ์ระหว่างรํฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าที่ของรัฐกับประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

     -กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศต่างๆในโลกต้องมีการติดต่อมีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ทั้งในการค้า เศรษฐกิจ และการประสานงานช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอาจมาในรูปของสนธิสัญญา จารีตประเพณีหรือความตกลงกันระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศอาจไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ  เช่นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ฯลฯ

1 ความคิดเห็น:

  1. โห ทางการมากเลยค่ะ ได้ความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายเยอะเลย รูปแบบก็น่าอ่านมากๆค่ะ

    ตอบลบ